top of page
Poor student drink dirty water
Diry water

ความสำคัญของน้ำในโรงเรียน

คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยาเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน 

กล่าวในการเป็นประธานเปิดประชุมเครือข่ายเฝ้าระวังน้ำดื่มโรงเรียนที่ โรงแรมเอสดีอเวนนิว กทม. ว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ตรวจสอบเครื่องทำน้ำเย็นของโรงเรียนในสังกัดทั่วประเทศโดยจากการสำรวจข้อมูลจากโรงเรียน 17,254 แห่งพบว่า มีโรงเรียนที่บริการน้ำดื่มผ่านเครื่องทำน้ำเย็น7,681 แห่งแบ่ง เป็นโรงเรียนที่ใช้เครื่องทำน้ำเย็นแบบ  กด จำนวน 3,809 แห่งในจำนวนนี้มีโรงเรียน 1,857 แห่งที่ใช้เครื่องทำน้ำเย็นที่ใช้ตะกั่วบัดกรีรวมทั้งสิ้น 4,132เครื่องและโรงเรียนที่ใช้เครื่องทำน้ำเย็นแบบถัง 3,872 แห่ง โดยจำนวน นี้มีโรงเรียน 1,748 แห่งใช้เครื่องทำน้ำเย็นแบบถังที่ใช้ตะกั่วบัดกรี 3733 เครื่อง

 

  "สพฐ.จะเร่งสำรวจโรงเรียนที่เหลืออีก15,034 แห่ง เบื้องต้นได้สั่งให้หยุดใช้เครื่องทำน้ำเย็นทุกชนิดที่ใช้ตะกั่วบัดกรีทันที จะตรวจสอบว่า คุ้มค่าใช้จ่ายหรือไม่ หากจะปรับแก้ส่วนประกอบ จากเดิมใช้ตะกั่วบัดกรีมาเป็นวัสดุอื่น หากไม่คุ้มทุนจะให้เปลี่ยนเครื่องทำน้ำเย็นใหม่ แต่ยังไมได้มีนโยบายจัดซื้อใหม่ จะขอความร่วมมือสำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา (สอศ.) เร่งปรับเปลี่ยนเครื่องทำน้ำเย็นทุกโรงเรียนทั่วประเทศภายในปีนี้ และให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทุกแห่งให้ความสำคัญในเรื่องนี้" เลขาธิการ กพฐ. กล่าว

 

 

  

 

ผลกระทบ 

 

ด้วยทุกวันนี้ขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยกับต่างชาติอ่อนด้อยลง... ถึงขนาดประเทศเพื่อนบ้านที่เคยล้าหลังกว่ากำลังจะแซงหน้าไทย

 สถิติทดสอบความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษ ในช่วงปี 47-48...เด็กไทยทำคะแนนเฉลี่ยแพ้เด็กกัมพูชา ลาว เวียดนาม พม่า

 

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ศึกษาวิจัยเรื่องระดับเชาวน์ปัญญาของเด็กไทย ปี 40 เด็กไทยอายุ 6-13 ปี มีไอคิวเฉลี่ยอยู่ที่ 91.9...ปี 46 ไอคิวลดเหลือแค่ 88

 

ล่าสุด กระทรวงศึกษาธิการรายงาน ตอกย้ำข้อมูลเด็กไทย ผลการทดสอบการเรียนระดับชาติ ปี 47 ว่าแย่แล้ว ปี 49 แย่ยิ่งกว่า เด็กไทยทำคะแนนได้ต่ำกว่าเกณฑ์ 50%...สอบตก ได้คะแนนลดลงในทุกวิชา

ปี 2547 เด็ก ป.6 ทำคะแนนวิชาภาษาไทยได้ 44.23%...ปี 2549 ได้คะแนนแค่ 42.74%

วิชาภาษาอังกฤษเคยได้ 37.36% ก็ทำได้แค่ 34.51%

วิชาคณิตศาสตร์ เดิมได้ 43.77%...ปี 49 ทำได้ 38.8%

ทำไมลูกหลานไทยยิ่งเรียนยิ่งแย่ลง...บ้างก็โทษโรงเรียน โทษครู โทษเรื่องอาหารการกิน ขาดสารอาหาร ขาดไอโอดีน ขาดธาตุเหล็ก

แต่ยังมีตัวการสำคัญอีกอย่างที่ถูกมองข้าม

 

 นั่นก็คือ...น้ำ!!!

 

 

น้ำดื่มเป็นปัญหาหญ้าปากคอก...ที่ถูกมองข้ามมานาน และถูกค้นพบโดยบังเอิญใน พ.ศ. 2550 นี่เอง

 

หลังจาก นพ.ไพจิตร์ วราชิต อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายขยายงานวิทยาศาสตร์การแพทย์ จากที่เคยทำกันแค่ในห้องแล็บ ออกไปสู่ชุมชน เพื่อชาวบ้านจะได้ใช้ประโยชน์จากวิทยาศาสตร์การแพทย์นำร่องทดลองโครงการด้วยการตรวจวิเคราะห์คุณภาพน้ำดื่มน้ำใช้ของชาวบ้านที่ อ.ดอนมดแดง จ.อุบลราชธานี      ด้วยมีเป้าหมายเล็กๆ เพียงแค่หวังจะปรับปรุงคุณภาพน้ำดื่มน้ำใช้ ให้ดีขึ้น สะอาดขึ้น เพื่อลดการเจ็บป่วยของชาวบ้านจากโรคทางเดิน      การสำรวจแหล่งน้ำของชาวบ้านพบว่า คนไทยในชนบทยุคนี้พัฒนาก้าวไกล มีการใช้น้ำประปาหมู่บ้านกันหมด แต่เมื่อนำน้ำมาตรวจวิเคราะห์กลับพบปัญหามากกว่าที่คิดไว้   ที่คิดว่าจะมีแค่เชื้อโรค กลับพบสารอันตรายปนเปื้อนอยู่ในน้ำที่ชาวบ้านดื่มกินประปาหมู่บ้านใน อ.ดอนมดแดง 40 แห่ง มีเหล็กปนเปื้อนสูงเกินมาตรฐานมากถึง 49.87% มีตะกั่วสูงเกินมาตรฐาน 12.81%

 

การพบสารอันตรายปนเปื้อนสูง ทำให้เป้าหมายของภารกิจเล็กๆ ถูกปรับเปลี่ยนไปสู่เป้าหมายที่ใหญ่ขึ้น ให้ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ทั้ง 14 ศูนย์ ตรวจวิเคราะห์คุณภาพน้ำทั่วประเทศ...เน้นตรวจน้ำดื่มในโรงเรียน

 

“เราเน้นที่โรงเรียน เพราะการตรวจวิเคราะห์น้ำที่ อ.ดอนมดแดง พบโลหะหนักปนเปื้อนสูงมาก โลหะหนักนั้นมีผลต่อเด็กมากกว่าผู้ใหญ่ ประมาณ 4 เท่า  เพราะผู้ใหญ่จะดูดซึมโลหะหนักเข้าไปในร่างกายได้แค่ 10% ในขณะที่เด็กจะดูดซึมได้ถึง 40%”

 

นพ.ไพจิตร์ ให้เหตุผลถึงการปรับเปลี่ยนเป้าหมายการตรวจคุณภาพน้ำดื่มจากหมู่บ้าน หันมาเน้นหนักที่โรงเรียนก่อนเป็นลำดับแรก

ผลการตรวจวิเคราะห์น้ำดื่ม 1,099 ตัวอย่าง จากโรงเรียนทั่วประเทศ พบน้ำที่เด็กดื่มผ่านเกณฑ์มาตรฐานความปลอดภัยแค่เพียง 37.47%มีน้ำดื่มที่ไม่ผ่านเกณฑ์ความปลอดภัยมากถึง 62.53%  และที่คาดว่าน้ำดื่มไม่ปลอดภัย น่าจะมีมากในเขตชนบท...ที่ไหนได้ ไม่ว่าจะบ้านนอกคอกนา ในเขตเทศบาล เขตเมือง ล้วนแต่มีปัญหาไม่แพ้กัน   น้ำดื่มของโรงเรียนที่ตั้งอยู่ในเขต อบต. ไม่ผ่านเกณฑ์ความปลอดภัย 75.1%...ในเขตเทศบาล ไม่ผ่านเกณฑ์ 48%

  

ใน กทม.และปริมณฑล ไม่ผ่านเกณฑ์ 56.7%

“ตอนแรกเราสันนิษฐานว่า ในเขตเมืองไม่น่าจะมีปัญหา เพราะน้ำส่วนใหญ่ที่เด็กดื่มเป็นน้ำประปา มีความสะอาดปลอดภัยไดมาตรฐานเหมาะกับการดื่ม น้ำประปาที่จ่ายมาถึงโรงเรียนก็มีความสะอาดจริง   แต่พอเราเอาน้ำที่ออกมาจากก๊อกตู้น้ำดื่ม ตู้แช่น้ำเย็น รวมทั้งก๊อกของเครื่องกรอง ปรากฏว่า น้ำประปาที่สะอาดกลับกลายเป็นน้ำที่ไม่ปลอดภัยต่อการดื่ม มีทั้งเชื้อโรค ทั้งสารโลหะหนัก สารตะกั่ว ปนเปื้อนอยู่ในน้ำสูงจนน่าตกใจ”

 

และเมื่อลงมือค้นหาสาเหตุน้ำประปาดื่มได้กลายเป็นน้ำอันตรายได้อย่างไร...?

 

นักวิทยาศาสตร์การแพทย์พบต้นตอที่ทำให้น้ำประปามีเชื้อโรคปนเปื้อน มาจากเครื่องกรองน้ำ

 

เครื่องกรองน้ำประปา...ตามมาตรฐานการใช้งาน จะต้องหมั่นล้างเครื่องกรองน้ำ และเปลี่ยนไส้กรองตามระยะเวลาที่กำหนด

 แต่ในทางปฏิบัติ ซื้อเครื่องกรองมาติดตั้งแล้ว... ไม่เคยมีการล้างเครื่องกรอง และเปลี่ยนไส้กรองเลย เครื่องกรองน้ำเลยกลายสภาพเป็นที่กักเก็บเชื้อโรคและสิ่งสกปรกแทน

 

น้ำประปาที่ผ่านเครื่องกรองก็เลยกลายเป็นน้ำที่เต็มไปด้วยเชื้อโรค

 แต่ปัญหาน้ำปนเปื้อนเชื้อโรค ยังไม่รุนแรงและร้ายเท่า...น้ำผสมสารตะกั่ว

 ปัญหามาจากความทันสมัยของสังคมไทยยุคใหม่...โรงเรียนทั่วไทยยุคนี้ แทบจะทุกโรงล้วนแต่มีตู้แช่น้ำเย็นให้เด็กดื่ม

 ตู้แช่น้ำสเตนเลส การเชื่อมต่อสเตนเลส ในส่วนที่เป็นถังกักเก็บน้ำแช่เย็น ท่อต่อน้ำเย็นไปยังก๊อกน้ำ รวมทั้งลูกลอย

 

ถูกเชื่อมบัดกรีด้วย...ตะกั่ว!!!

 

น้ำประปาดีๆถูกเก็บกักในถัง...สารตะกั่วจะค่อยๆละลายผสมให้เด็กดื่ม

“เกณฑ์มาตรฐานน้ำดื่มของไทย น้ำ 1 ลิตร มีสารตะกั่วปนเปื้อนได้ไม่เกิน 0.05 มิลลิกรัม แต่ที่เราตรวจพบจากตู้แช่น้ำดื่มในโรงเรียน มีค่าเกินมาตรฐานถึง 10 เท่า”

 

โรงเรียนบางแห่งพบสารตะกั่วสูงถึง 1.06 มิลลิกรัม...เกินมาตรฐาน 21 เท่า

  

“สารตะกั่วมีอันตรายต่อเด็กมาก ดื่มกินจะเข้าไปฝังจับสะสมที่สมอง ทำลายสมอง และเข้าไปจับสะสมบริเวณไขกระดูก ทำให้การเจริญเติบโตของเด็กลดลง

 

ที่ร้ายไปกว่านั้น สารตะกั่วฝังจับสะสมไปแล้วจะอยู่คู่กับคนนั้นไปตลอด โอกาสที่ร่างกายจะขับออกมาได้น้อยมากหรือแทบไม่ได้เลย”

 

น้ำดื่มผสมสารตะกั่วคงเป็นคำตอบได้เป็นอย่างดีว่า ทำไมเด็กไทย...ยิ่งเรียนยิ่งมาตรฐานต่ำ เพราะยิ่งเรียน...ยิ่งได้ดื่มน้ำผสมสารตะกั่วมากวัน  และอย่าลืมว่า ตู้แช่น้ำเย็นที่ผลิตน้ำผสมสารตะกั่วให้เด็กดื่มนั้น อยู่คู่กับโรงเรียนในประเทศไทยมาไม่น้อยกว่า 10 ปี

 

 จากอนุบาล 1 จนถึง ม.6 ดื่มสะสมเข้าไปขนาดไหน

 

 

bottom of page